แหล่งอารยธรรมอินโดนีเซีย
พุทธสถาน ‘บุโรพุทโธ’
หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
‘บุโรพุทโธ’ หรือ ‘โบโรบูดูร์’ (borobodur) พุทธสถานอันงามสง่า หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ตั้งอยู่ใจกลางเกาะชวา อยู่ห่างจากเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakata) หรือยอกยา ของอินโดนีเซีย ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 14 ในสมัยของกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ แห่งอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งสมัยนั้นหมู่เกาะต่างๆ ของอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอินเดีย ทั้งด้านการค้าและวัฒนธรรม ทำให้ได้รับอิทธิพลทางด้านความเชื่อของฮินดูและพุทธเป็นอย่างมาก แต่กษัตริย์ของศรีวิชัยซึ่งเป็นชาวฮินดู เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และชนชาวศรีวิชัยส่วนใหญ่ก็นับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ทำให้เกาะชวาเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรศรีวิชัยนี้
มหาสถูปบุโรพุทโธ อันงดงามนั้นรังสรรค์ขึ้นด้วยความรักความศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นต่อพระพุทธศาสนาของชนชาวศรีวิชัย ประติมากรรมแต่ละชิ้นได้รับการจัดวางอย่างงดงามลงตัวและมีความหมายอันมีนัยถึงธรรม ธรรมชาติ หรือจักรวาล โดยสร้างขึ้นจากหินลาวา มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 55,000 ตารางเมตร รูปทรงด้านฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวด้านละ 123 เมตร แต่ละด้านมีบันไดและซุ้มประตูขึ้นสู่มหาเจดีย์ ซึ่งมีทั้งหมด 10 ชั้น ชั้น 1-6 มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนชั้นที่ 7-10 มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม
ส่วนฐานของบุโรพุทโธ ประกอบด้วยขั้นบันไดใหญ่ 4 ขั้น กำแพงรอบฐานมีภาพสลักประมาณ 160 ภาพ เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่ยังข้องอยู่ในกาม ผูกพันกับความสุข สนุกสนาน ความปรารถนาทางโลกอันไม่รู้จบ ส่วนนี้จัดอยู่ในขั้นกามภูมิ
ในส่วนที่สอง คือส่วนบนของฐานนั้น ผนังทั้งด้านนอกด้านในมีรูปสลักเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและชาดกต่างๆ ประมาณ 1,460 ภาพ ในส่วนนี้ถือเป็นขั้นรูปภูมิ คือขั้นตอนที่มนุษย์หลุดพ้นจากกิเลสทางโลกมาได้บางส่วน
พุทธศาสนิกชนร่วมเจริญพระพุทธมนต์ และเวียนเทียนที่พุทธสถานบุโรพุทโธ
ส่วนที่สาม คือส่วนของฐานกลมที่มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ จำนวน 72 องค์ แต่ละองค์บรรจุด้วยพระพุทธรูป ตั้งเรียงรายอยู่ 3 ระดับ โอบล้อมพระเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สุดยอดของบุโรพุทโธ จำนวน 72 นั้น หากพิจารณาในทางธรรมแล้วหมายถึง รูป 18 เจตสิก 52 จิต 1 นิพพาน 1 และฐานพระเจดีย์ที่เป็นรูปบัวผลิบานนั้นบ่งบอกถึงการรู้ตื่นและเบิกบาน ส่วนพระเจดีย์องค์ใหญ่นั้นภายในไม่ได้บรรจุสิ่งใดไว้ อาจสื่อให้เห็นถึงความว่าง อันถึงที่สุดของนิพพานแล้ว ย่อมไร้ลักษณ์ ไร้รูปรอยใดๆ ในส่วนนี้ถือเป็นขั้นอรูปภูมิ ที่มนุษย์ไม่ผูกพันกับทางโลกอีกต่อไป
บุโรพุทโธคงความยิ่งใหญ่ยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คน ผ่านกาลผ่านสมัยจวบจนเข้าต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งใกล้สิ้นยุคของศรีวิชัย ซึ่งในเวลานั้นชาวโปรตุเกสได้เริ่มเข้ามายึดครองหมู่เกาะต่างๆ และอิทธิพลของศาสนาอิสลามได้เข้ามาแทนที่ บุโรพุทโธได้ถูกลืมเลือนไปและถูกทิ้งร้างท่ามกลางป่าเขาเป็นเวลานับร้อยๆ ปี จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 24 เซอร์โทมัส แสตนฟอร์ด ราฟเฟิล ชาวดัทซ์ ได้ค้นพบบุโรพุทโธขึ้นอีกครั้งในสภาพที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง และมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรก ในระหว่าง พ.ศ.2448-2453
ต่อมาใน พ.ศ.2516 รัฐบาลอินโดนีเซียได้เริ่มต้นโครงการปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งโดยมีองค์การยูเนสโก ของสหประชาชาติ ได้ให้ทุนสนับสนุน รวมทั้งเงินทุนอุดหนุนจากบางประเทศที่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งประเทศไทยก็มีส่วนร่วมด้วย (ขอเพิ่มเติมว่า ท่ารำของระบำศรีวิชัยในบ้านเรานั้น ได้ค้นคว้ามาจากภาพจำหลักที่บุโรพุทโธนี่เอง)
แล้ว...ความสง่างามของบุโรพุทโธก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง เฉกเช่นในอดีต !!
‘บุโรพุทโธ’ พุทธสถานอันงามสง่า
ไม่อาจจะสรรหาคำใดมาอธิบายความยิ่งใหญ่ ของบุโรพุทโธได้ แต่เผอิญได้มีโอกาสอ่านหนังสือของท่านเขมานันทะ เรื่อง ‘บุรีแห่งบรมพุทโธ’ ซึ่งท่านเขียนได้ลึกซึ้งกินใจมาก เลยขอถือโอกาสนำบางส่วนมาถ่ายทอดความรู้สึกปิดท้ายกันตรงนี้
“...โบโร คือพลังสร้างสรรค์บริสุทธิ์...คือพลังแรงแห่งน้ำใจและน้ำมือมนุษย์เดินดิน ด้วยรักและตระหนักรู้ต่อพุทธธรรมว่าจะเกื้อกูลค้ำจุนโลกได้แท้จริง...
ถ้าว่าความรัก ความงาม ความจริง และความดีมีอยู่จริง โบโรบูดัวหรือบรมพุทโธเป็นอันนั้นคือ การุณยธรรมอันสำแดงออกในงานศิลปะชั้นสูงส่งเท่าที่มนุษย์เคยสร้างสรรค์แล้วในโลกพิภพ...
บรมพุทโธ คือ สื่อสืบสานมโนคติ หากได้สัมผัสคงเป็นบุญแห่งขันธ์และการจาริกมาก็เป็นบุญกิริยา และแม้ไม่มา เพียงรู้ล้วนๆ ในช่วงขณะใดขณะหนึ่ง ล่วงพ้นนิมิตต่างๆ ก็ชื่อว่ามาถึงบุรีแห่งพุทโธ และถ้ามันกลายเป็นวาสนาบารมีไปแล้ว การเข้าผ่านประตูกาลมุขนั้น ก็คือการเข้าถึงไวโรจนพุทธะ สภาพตื่นผลิบานอันรุ่งเรือง คือ พระสถูปมหาสุญญตา แต่การภาวนาที่โน้มทั้งกาย วาจา และใจ เข้าทางธรรมนั้นนับว่างดงาม...”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น