วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562

ตามรอยสังฆราชา ณ บุโรพุทโธ อินโดนีเซีย (ตอนที่ 1)

ธรรมาภิวัตน์ : ตามรอยสังฆราชา ณ บุโรพุทโธ อินโดนีเซีย (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:    โดย: MGR Online


เป็นเวลากว่า 45 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยโดยพระธรรมทูตได้เดินทางไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศอินโดนีเซีย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2512 ด้วยพระเมตตาของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
หากมองย้อนกลับไปในแดนอิเหนาหรืออินโดนีเซียนั้น คุณผู้อ่านก็คงคิดเหมือนกับผมนะครับว่า น่าจะไม่ใช่เมืองพุทธ น่าจะเป็นอิสลามมากกว่า
เพราะอินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ศาสนาประจำชาติคือศาสนาอิสลาม มีผู้นับถือกว่า 90% ส่วนศาสนาพุทธมีผู้นับถือเพียง 2% เท่านั้น แต่หากคิดเป็นตัวเลขจำนวนประชากรของอินโดนีเชียที่มีอยู่ 250กว่าล้านคนแล้ว ผู้ที่นับถือพุทธก็มีจำนวนถึง 5 ล้านคน ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียวครับ
ยิ่งปัจจุบันนี้มีพ่อค้าคนจีนเข้าไปตั้งรกรากทำการค้าในอินโดนีเซียมากขึ้น ก็ทำให้มีแรงสนับสนุนต่อพุทธศาสนานิกายมหายานมากตามไปด้วย โดยคหบดีชาวจีนในอินโดนีเซีย มีส่วนสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนานิกายมหายาน เริ่มมีพัฒนาการที่ดีมากขึ้นครับ ซึ่งเถรวาทเองก็ได้รับอานิสงส์ด้วย
ในช่วงที่ผมหาข้อมูลเพื่อจะเดินทางไปท่องเที่ยวท่องธรรมตามรอยสังฆราชา ณ บุโรพุทโธ อินโดนีเซีย นั้น ผมได้อ่านหนังสือชื่อ "อินโดนีเซีย" ของสำนักพิมพ์สู่โลกกว้าง เขียนโดยคุณศิริพร โตกทองคำ เล่าเอาไว้ตอนหนึ่งว่า
"...พระพุทธศาสนาในอินโดนีเซียมีส่วนผสมของฮินดู จนบางครั้งแยกกันไม่ออก ฮินดูและพุทธจึงอยู่ร่วมกันจนมีผู้มองว่า ศาสนาพุทธแตกกิ่งก้านมาจากฮินดู แต่มีความอ่อนโยนและลึกซึ้งกว่า แผ่ขยายสู่จีนและผ่านทางการออกธุดงค์ของพระสงฆ์ ก่อนเข้าสู่ชวาและสุมาตรา
โดยพื้นฐานแล้วศาสนาพุทธแตกสาขามาจากฮินดูก็จริง แต่ละทิ้งแนวคิดเรื่องวรรณะเช่นเดียวกับความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าหลายองค์ และเสนอแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม ชาวพุทธในอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นคนจีน แม้จะเป็นพุทธที่ผสมผสานกับความเชื่อของบรรพบุรุษคือลัทธิเต๋าและขงจื้อ แต่คนจีนส่วนใหญ่ชอบบอกว่าตนเป็นคนพุทธ...”

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายอย่างครับ เพราะถึงแม้ว่าในปัจจุบันอินโดนีเซียจะเป็นประเทศนับถือศาสนาอิสลาม แต่ในอดีตนั้นพบว่า เคยมีพระพุทธศาสนาแบบมหายานเข้ามาในอินโดนีเซีย รวมทั้งแหลมมลายู ขึ้นมาถึง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชของไทย ซึ่งในสมัยหนึ่งคืออาณาจักรศรีวิชัยนั่นเองครับ เพราะมีอาณาเขตครอบคลุมมลายู เกาะชวา เกาะสุมาตรา ช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดาและบริเวณภาคใต้ของไทย (บางส่วน) กลายเป็นดินแดนที่ยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนามาก เป็นอาณาจักรที่นับถือพุทธศาสนามหายาน ได้รับวัฒนธรรมอินเดีย 2 ทาง คือ จากราชวงศ์โจฬะ (อินเดียใต้) และราชวงศ์ปาละ (เบงกอล) ซึ่งนำพุทธศาสนาวัชรยาน (Vajrayana) หรือตันตระ (Tantra) เข้ามา
ดังนั้น ศรีวิชัยจึงเป็นอาณาจักรที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานอย่างแพร่หลาย พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก อาทิ พระพิมพ์ดินดิบ และพระโพธิสัตว์ เป็นต้น
ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ที่มีการติดต่อกับราชวงศ์ปาละแห่งเบงกอล ได้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน มีการส่งพระภิกษุไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย ซึ่งกษัตริย์เบงกอลก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันทางเบงกอลก็ได้ส่งพระภิกษุมาเผยแผ่พุทธศาสนา ส่งช่างฝีมือมาสอนศิลปะสมัยปาละ ให้แก่ชาวศรีวิชัยด้วย
มีการค้นพบหลักฐานจากบันทึกการเดินทางของพระสมณะอี้จิง ที่ได้จาริกผ่านมายังเกาะสุมาตรา ระหว่างเดินทางไปอินเดีย ได้เล่าถึงอาณาจักรศรีวิชัยว่า
"เมืองนี้มีพระสงฆ์มากกว่า 1,000 รูป พระวินัยและพิธีสงฆ์เหมือนกับที่อินเดีย ท่านอยู่ศึกษาไวยากรณ์สันสกฤตที่อาณาจักรศรีวิชัย 6 เดือน ก่อนเดินทางไปอินเดีย และตอนขากลับจากอินเดียได้ใช้เวลาแปลคัมภีร์จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนอีก 4 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมืองศรีวิชัยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน รวมทั้งมีหลักฐานให้เชื่อได้ว่า อาณาจักรแห่งพระพุทธศาสนา มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปาเล็มบัง บนเกาะสุมาตราแห่งนี้"
ราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีการสร้างมหาสถูปโบโรบุดูร์ หรือบรมพุทโธ หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า "บุโรพุทโธ" (ภาษาอินโดนีเซีย : Chandi Borobudur) สร้างโดยกษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทร ให้เป็นศาสนสถานของพุทธนิกายมหายาน และถือได้ว่าเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธที่ใหญ่ที่สุดในโลก สื่อถึงสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ สื่อถึงความศรัทธาของชาวพุทธที่มีต่อพุทธศาสนา นอกจากนี้ องค์การยูเนสโกยังได้ประกาศให้บุโรพุทโธเป็นมรดกโลกเมื่อพ.ศ.2534
บุโรพุทโธเป็นสถูปแบบมหายาน สร้างขึ้นด้วยหินภูเขาไฟประมาณ 2 ล้านตารางฟุต บนฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 121 เมตร สูง 403 ฟุต เอาหินแต่ละก้อนมาเรียงโดยไม่ใช้ปูนมาก่อขึ้นเป็นรูปทรงแบบพีระมิด มีลานเป็นชั้นลดหลั่นกัน 8 ชั้น และใน 8 ชั้นนั้น 5 ชั้นล่างเป็นลาน 4 เหลี่ยม 3 ชั้นบนเป็นลานวงกลม และบนลานกลมชั้นสูงสุดมีพระสถูปตั้งสูงขึ้นไปอีก 31.5 เมตร เป็นมหาสถูปที่ระเบียงซ้อนกันเป็นชั้นลดหลั่นกันไป ที่สำคัญคือเมื่อเกิดแผ่นดินไหวภูเขาไฟระเบิด สถูปเจดีย์ไม่ทรุด ยังทรงอยู่ได้ น่าอัศจรรย์มากครับ
สถูปเจดีย์ที่มีรูปทรงโอ่งคว่ำเป็นแบบทึบนั้นก็คือสัญลักษณ์ของ “อรูปธาตุ” (ไม่ปรากฏร่างกาย) และเป็นเพียงสัญลักษณ์พระสถูปเจดีย์ดังกล่าว อันเป็นพลังสากลทั่วไปที่แผ่ไปทั่วสกลจักรวาล ฐานชั้นล่างสุดซึ่งเป็นชั้นที่ 1 ของบุโรพุทโธ จะมีภาพสลักทั้งหมด 160 ภาพ โดยทุกภาพเป็นการเล่าเรื่องราวตาม “คัมภีร์ธรรมวิภังค์” ว่าด้วยเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ซึ่งก็คือเรื่องของบาป บุญ คุณ โทษ
เชื่อกันว่าแผนผังของบุโรพุทโธคงหมายถึง “จักรวาล” และอำนาจของ “พระอาทิพุทธเจ้า” ได้แก่ พระพุทธเจ้าผู้ทรงสร้างโลกในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ซึ่งแสดงโดยสถูปที่บนยอดสุดก็ได้แผ่ไปทั่วทั้งจักรวาล แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือชั้นบนสุดได้แก่ “อรูปธาตุ” ชั้นรองลงมาคือ “รูปธาตุ” และชั้นต่ำสุดคือ “กามธาตุ”
ส่วนพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่อยู่บนยอดสูงสุดของบุโรพุทโธ ก็คือสัญลักษณ์แทนองค์ “พระอาทิพุทธเจ้า” ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าสูงสุด ในคติความเชื่อพระพุทธศาสนานิกายมหายานที่เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งนั่นเองครับ
พระพุทธเจ้าทรงกล่าวไว้ไม่ผิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนอนิจจัง เมื่อมีเกิดได้ก็ต้องมีดับได้เป็นธรรมดาโลก ศาสนาก็เหมือนกันครับ เกิดได้ เจริญรุ่งเรืองได้ ก็ย่อมดับได้ ยุคเสื่อมของพุทธศาสนาในอินโดนีเซีย อยู่ในช่วงพ.ศ. 1836-2043 เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยอ่อนแอลง อาณาจักรมัชปาหิต (Majapahit) เข้ามามีอำนาจแทน
ประมาณปี พ.ศ. 2027 ในสมัยของกษัตริย์ "ระเด่นปาทา" มีอำนาจอันเกิดจากการปิตุฆาตพระบิดา คือพระเจ้าองควิชัย และได้สถาปนาตัวเองเป็นสุลต่านแผ่อำนาจไปทั่วหมู่เกาะชวา เกาะสุมาตรา ทั่วทั้งแหลมมลายูก็กลายเป็นมุสลิมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพระองค์ทรงเกิดความเลื่อมใสในศาสนาอิสลาม ทรงยกย่องให้อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ และห้ามเผยแผ่พุทธศาสนา เจ้าเมืองต่างๆที่เกรงกลัวต่างพากันเข้ารีตนับถืออิสลาม ส่วนผู้ที่มั่นคงในศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาได้พากันหนีภัยลงไปอยู่ที่เกาะบาหลี
ในช่วงนั้นชาวพุทธในอินโดนีเซียไม่ได้มีบทบาทใดเลย จนกลายเป็นชนกลุ่มน้อยไปในที่สุด เนื่องจากชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ในขณะที่พระพุทธศาสนาตกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมตลอดระยะเวลาอันยาวนาน 
กระทั่งพุทธสถานบุโรพุทโธ ซึ่งถือได้ว่ามีความเก่าแก่และใหญ่โต เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของอาณาจักรศรีวิชัย ยังเหลือเพียงซากปรักหักพังที่จมอยู่ใต้ดินทราย คิดดูแล้วกันครับว่า พุทธศาสนาในสมัยนั้นตกต่ำย่ำแย่เพียงใด
พุทธศาสนาในอินโดนีเซียเริ่มกระเตื้องขึ้นมาบ้าง ในยุคที่ฮอลันดาเข้ามาปกครอง และได้รับเอกราชในเวลาต่อมา
โดยช่วงก่อนหน้านั้น รัฐบาลอาณานิคม (Nethelands East Indies) ของฮอลแลนด์ ซึ่งตั้งเมืองหลวงที่ปัตตาเวีย (Batavia) ได้เฝ้าติดตามผู้นำอิสลามอย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังมิให้เจ้าหน้าที่สุเหร่า โรงเรียนอิสลามและครูสอนศาสนา กระทำการปลุกระดมประชาชน เพื่อต่อต้านอำนาจรัฐอาณานิคม ซึ่งต้องพยายามแยกอิสลามที่เป็นศาสนากับอิสลามที่เป็นพลังทางการเมืองออกจากกัน ทว่าหาได้เป็นการแทรกแซงในศาสนาอิสลามไม่ ประกอบกับระยะหลังอินโดนีเซียถูกกดดันอย่างหนักภายหลังการประกาศอิสรภาพ ว่าอินโดนีเซียควรเป็นรัฐทางโลก (Secular State) เพื่อแก้ปัญหาเรื่องศาสนาในประเทศ
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541เป็นต้นมา รัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มมีนโยบายที่ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาอื่นๆ แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างของศาสนาพุทธที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ให้การสนับสนุนการจัดงานเฉลิมฉลอง เนื่องในวันวิสาขบูชา และยังได้ประกาศยกย่องให้วันนี้เป็นวันหยุดแห่งชาติอีกด้วย
ไทยเรามีความสัมพันธ์กับดินแดนอิเหนามาช้านาน โดยเฉพาะความสัมพันธ์กันตั้งแต่ยุคชวา สมัยนั้นมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันอย่างลึกซึ้ง ทั้งทางด้านวรรณคดี อาหาร เครื่องแต่งกาย และเครื่องดนตรี
มีพระมหากษัตริย์ไทยถึง 3 พระองค์ได้เคยเสด็จฯดินแดนที่เป็นประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จฯ เยือน 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2414 พ.ศ. 2439 และ พ.ศ. 2444
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯเยือนในปีพ.ศ. 2472 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯเยือน ใน พ.ศ.2503 โดยได้เสด็จฯ ไปกรุงจาการ์ตา เมืองบันดุง จังหวัดชวาตะวันตก จังหวัดย็อกยาการ์ตา และจังหวัดบาหลี
ประเทศไทยและสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2493 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองดำเนินไปได้ด้วยดีครับ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในระดับทวิภาคีและกรอบพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในกรอบอาเซียน
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับต่างๆอย่างสม่ำเสมอ นั่นถือเป็นสัญญาณดีที่ไทยเราในฐานะเมืองหลวงพุทธแห่งแดนสุวรรณภูมิ จะได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินโดนีเซียทั้งชวา ภาคกลาง ภาคตะวันออก และตะวันตก ให้รุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง
พระดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร เล่าให้ "ธรรมาภิวัตน์" ฟังถึงตำนานตอนหนึ่งของอินโดนีเซียที่ว่า
"พระพุทธศาสนาในอินโดนีเซีย ในช่วงที่อาณาจักรมัชปาหิตปกครองนั้นตกต่ำลงอย่างมาก แต่ก็มีคำกล่าวทำนายของ "ปุชังคะ" เป็นตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายพระพุทธศาสนาของพระราชสำนัก ซึ่งมีอยู่ 2 ท่าน คือ ท่านสัปโดปาลอน และนายยะเคงคอง ในตอนนั้นไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับนับถือศาสนาอิสลาม ได้กราบทูลว่า “อีก 500 ปี พระพุทธศาสนาจะกลับมา” จากนั้นก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จวบจนถึงกึ่งพุทธกาลเศษ แสงเรืองรองแห่งพระพุทธศาสนาก็เริ่มปรากฏ และเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ก็ได้มีบทบาทร่วมจุดแสงเรืองรองนี้"
พื้นที่หน้ากระดาษหมดลงในตรงนี้พอดี ในธรรมลีลาฉบับหน้าผมจะเขียนเล่าต่อครับว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในการนำแสงแห่งธรรมเข้าไปยังแดนอิเหนาได้อย่างไร อย่าลืมติดตามนะครับ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 160 เมษายน 2557 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)






แผนผังของบุโรพุทโธ
แผนผังของบุโรพุทโธ

งานฉลองวิสาขบูชา ณ มหาสถูปบุโรพุทโธ
งานฉลองวิสาขบูชา ณ มหาสถูปบุโรพุทโธ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯเยือนบุโรพุทโธ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯเยือนบุโรพุทโธ

ที่มา
https://mgronline.com/dhamma/detail/9570000036750

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น