วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2562

โรงเรือนอัจฉริยะ: นวัตกรรมตอบโจทย์เกษตร 4.0

Club Farmday The Series ตอน โรงเรือนอัจฉริยะ เผยแพร่เมื่อ 2 ก.ย. 2017


ด้วยตำแหน่งหน้าที่ “นักวิจัย” ที่ต้องคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เมื่อได้รับโจทย์ “พัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์สำหรับการทำเกษตร” “ตุ้น-นริชพันธ์ เป็นผลดี” ผู้ช่วยนักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้คิดค้น ทดลองและพัฒนา “แฮนดี้เซ้นส์ (handy sense) สำหรับระบบโรงเรือน” และต่อยอดการพัฒนาสู่ “โรงเรือนอัจฉริยะ” 
“แฮนดี้เซ้นส์-TMEC” ระบบเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เพื่อการทำเกษตรอัจฉริยะ
ปัจจุบันการใช้เซ็นเซอร์เพื่อทำเกษตรเป็นที่นิยมมากขึ้น คุณตุ้นให้ความเห็นว่า “การใช้เซ็นเซอร์ในระบบสมาร์ทฟาร์มมีค่อนข้างเยอะ ผู้พัฒนาโปรแกรมสามารถเขียนโปรแกรมต่างๆ เพื่อดำเนินงานด้านการเกษตรได้ แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ไม่ใช่เพียงการใช้งานได้ แต่ต้องเป็นการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คงทน และเหมาะสมกับการทำเกษตรของบ้านเราที่สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัจจุบันเรานำเข้าเซ็นเซอร์ที่ผลิตจากต่างประเทศ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับงานที่มีสภาวะแวดล้อมคงที่เป็นหลัก เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อนำมาใช้งานด้านการเกษตรที่มีสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงตลอด เซ็นเซอร์จึงใช้งานได้ไม่นาน แต่แฮนดี้เซ้นส์ของ TMEC เป็นเซ็นเซอร์ที่พัฒนาเพื่อการทำเกษตรโดยเฉพาะ สอดคล้องกับการใช้งานจริงของประเทศไทยที่สภาพอากาศแปรปรวน โดยทำหน้าที่วัด แจ้งเตือน และควบคุมสภาวะที่เหมาะสมสำหรับพืชแต่ละชนิด” คุณตุ้นให้ข้อมูลภาพการใช้งานเซ็นเซอร์
 
“แฮนดี้เซ้นต์-TMEC” จะควบคุมสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับพืช ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ความชื้นในดิน และแสง เมื่อค่าต่างๆ สูง/ต่ำกว่าค่าที่กำหนดไว้ ระบบจะทำงานปรับสภาพในโรงเรือนโดยอัตโนมัติ พร้อมทั้งแจ้งเตือนไปยังเกษตรกรผ่านโทรศัพท์มือถือ
คุณตุ้นบอกว่า การใช้งานแฮนดี้เซ้นต์-TMEC ไม่ยุ่งยาก สามารถรับส่งข้อมูล แจ้งเตือน และสั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ได้ โดยใช้งานผ่าน web application ปัจจุบันระบบได้ใส่ค่าอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ความชื้นในดิน และแสงของพืชไว้หลายชนิด เช่น ข้าว เมล่อน มะเขือเทศ กุหลาบ เห็ด ซึ่งเกษตรกรสามารถเพิ่มชนิดของพืชและป้อนข้อมูลต่างๆ เพิ่มได้ 
เมื่องานวิจัยลงแปลงเกษตร
เมื่อได้พัฒนา “แฮนดี้เซ้นส์-TMEC” จากโจทย์วิจัยที่ตั้งเป้าไว้ว่า “ต้องเป็นเซ็นเซอร์สำหรับการเกษตร ที่ใช้กับสภาวะแวดล้อมของประเทศ ราคาไม่แพง และใช้งานง่าย” วิธีดีที่สุดที่จะพิสูจน์ผลงานที่พัฒนาขึ้นคือ การทดลองใช้ คุณตุ้นจึงได้พูดคุยกับ “คุณพ่อ-สนั่น เป็นผลดี” เพื่อขอใช้พื้นที่บางส่วนสร้างโรงเรือนปลูกพืชที่ใช้ “แฮนดี้เซ้นส์-TMEC” ซึ่งด้วยความชื่นชอบเรื่องอิเล็กทรอนิกส์เป็นทุนเดิมบวกกับความรักในการปลูกพืช คุณพ่อสนั่นจึงสนับสนุนเต็มที่ โรงเรือนขนาด 8x18 เมตรสำหรับปลูกมะเขือเทศราชินี จำนวน 2 หลังพร้อมระบบเซ็นเซอร์จึงเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน 
จากการทดลองติดตั้ง “แฮนดี้เซ้นส์-TMEC” ในโรงเรือนทั้งสองหลัง พบว่า การทำงานของระบบมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องการควบคุมสภาพแวดล้อมและการแจ้งเตือน ที่สำคัญได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
“ปลูกคร็อปแรกก็ได้ผลดีเลย การปลูกพืชในโรงเรือน นอกจากจะป้องกันเรื่องแมลงแล้ว หากควบคุมสภาวะภายในโรงเรือนได้ จะทำให้การเพาะปลูกพืชบางชนิดสามารถทำได้ตลอดปี อย่างกรณีมะเขือเทศที่ปลูก โดยปกติไม่สามารถปลูกในฤดูร้อนได้ แต่เมื่อปลูกในโรงเรือนนี้สามารถปลูกและให้ผลผลิตได้ใกล้เคียงกับการปลูกในฤดูหนาว ซึ่งเท่ากับว่าเกษตรกรจะมีรายได้จากการปลูกมะเขือเทศตลอดปี” 
มะเขือเทศราชินีที่คุณตุ้นเลือกปลูกนี้ นอกจากจะให้ผลผลิตในฤดูร้อนด้วยแล้ว ยังมีจุดเด่นที่เป็นพันธุ์ไร้เมล็ด รสชาติหวานและกรอบ ทำให้มีราคาจำหน่ายสูงถึงกิโลกรัมละ 150-200 บาท 
ต่อยอดสู่ “โรงเรือนอัจฉริยะ”
“โรงเรือนอัจฉริยะ คือ โรงเรือนปลูกพืชที่มีระบบอัตโนมัติควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมการให้น้ำ ปุ๋ย ให้เหมาะสมกับชนิดของพืช” คุณตุ้นอธิบายถึงคำว่า “อัจฉริยะ” ของโรงเรือน และขยายความต่อว่า ระบบอัตโนมัติที่ว่านั้นก็คือ “แฮนดี้เซ้นส์-TMEC” เครื่องมือที่คุณตุ้นได้วิจัยและพัฒนาขึ้นมานั่นเอง
หลังจากสวมหมวกเกษตรกรทดสอบเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในหน้างานจริงแล้ว แม้ผลลัพธ์ที่ได้จะน่าพอใจ แต่คุณตุ้นพบว่า หากโครงสร้างโรงเรือนสามารถรองรับเทคโนโลยีที่ใช้ตั้งแต่เริ่มต้น การแก้ปัญหาต่างๆ ในโรงเรือนจะน้อยลง จึงนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างและระบบต่างๆ ในโรงเรือนให้สอดรับกับ “แฮนดี้เซ้นส์-TMEC” ที่เป็นเทคโนโลยีหลักของโรงเรือน 
“ขนาดโรงเรือนที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืชเชิงพาณิชย์คือ 6x20 เมตรขึ้นไป จึงได้ออกแบบโครงสร้างร่วมกับศูนย์บริการปรึกษาและออกแบบวิศวกรรม สวทช. ให้มีความสูงที่เหมาะสม มีระบบไหลเวียนอากาศ ติดตั้งพัดลมระบายอากาศ และเพิ่มม่านเปิดปิดเพื่อควบคุมแสง” 
โรงเรือนที่พัฒนาต่อยอดขึ้นใหม่นี้จะเริ่มใช้งานจริงที่บริษัท เชียงใหม่ซี้ดส์ จำกัด ภายในปีนี้ และจะขยายการใช้งานสู่เกษตรกรหรือผู้สนใจต่อไป สำหรับเรื่องราคานั้น คุณตุ้นบอกว่า ค่าใช้จ่ายหลักจะอยู่ที่ตัวโครงสร้างโรงเรือน ซึ่งโครงสร้างและอุปกรณ์หลักในโรงเรือน ราคาประมาณ 2 แสนบาท แต่ถ้าเฉพาะเซ็นเซอร์ราคาประมาณหมื่นบาท
ตอบโจทย์ “เกษตร 4.0” รองรับ “สังคมผู้สูงวัย”
นอกจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้จะตอบโจทย์การใช้งานได้จริงในการทำเกษตร ช่วยลดระยะเวลาและแรงงานแล้ว ยังส่งผลกระทบเชิงสังคมในวันที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ “สังคมผู้สูงวัย”
“เห็นได้จากคุณพ่อซึ่งเกษียณแล้ว แต่สามารถที่จะทำงานเกษตรได้ บริหารจัดการมะเขือเทศ 400 กว่าต้นในโรงเรือน โดยไม่ต้องใช้แรงงานและเวลามาก ตอนเช้าเดินใช้เวลา 1-2 ชม. ในโรงเรือน หลังจากนั้นมีเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่น แต่ก็สามารถดูแลและควบคุมระบบต่างๆ ในโรงเรือนผ่านมือถือได้” คุณตุ้นเล่าถึงอีกแง่มุมหนึ่งของเทคโนโลยีระบบโรงเรือนอัจฉริยะที่ช่วยสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงวัย 
คุณพ่อสนั่น บอกว่า ตอนนี้มีผู้สูงวัยมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีก็เป็นเครื่องทุ่นแรงให้กับผู้สูงวัย ทำให้ผู้สูงวัยที่อยากทำเกษตร ก็ยังทำได้ และยังมีรายได้เสริมด้วย 
ไม่เพียงดูแลโรงเรือนมะเขือเทศ คุณพ่อสนั่นยังบริหารจัดการโรงเรือนทุกขั้นตอนตั้งแต่จัดการแปลงไปถึงการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของโรงเรือน รวมทั้งเป็นวิทยากรให้ความรู้กับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เกี่ยวกับการปลูกพืชในระบบโรงเรือนนี้อีกด้วย

https://www.nstda.or.th/agritec/activity/news-release/332-smart-green-house-2

นวัตกรรมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ แก้ปัญหาแรงงาน เพิ่มผลผลิต ตอบโจทย์เกษตรยุค 4.0

เผยแพร่:    โดย: MGR Online




นวัตกรรมโรงเรือนอัจฉริยะ เป็นการนำเทคโนโลยีระบบอิเล็กทรอนิกส์และเซ็นเซอร์ต่างๆ เข้ามาใช้กับภาคการเกษตรเพื่อช่วยลดปัญหาแรงงาน และช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และเซ็นเซอร์นี่เอง จึงได้เป็นที่มาของระบบอัจฉริยะ ที่สามารถประเมินผลและควบคุมได้ด้วยตัวเอง ผ่านการส่งและรับข้อมูลต่างๆ จากการเชื่อมต่อเข้าหากัน หรือ IOT (Internet Of Things) และระบบ Hendy Sense (เฮนดี้ เซ้นส์) หรือเทคโนโลยีเซ็นเซอร์กับการควบคุมระบบการให้น้ำเพื่อการเกษตร

สำหรับ "นวัตกรรมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ" พัฒนาขึ้นมาโดย “นายนริชพันธ์ เป็นผลดี” นักวิจัยของ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC: Thai Microelectronics Center) สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
นายนริชพันธ์ เล่าว่า ได้รับมอบหมายให้ช่วยออกแบบเทคโนโลยี ระบบ Hendy Sense ระบบควบคุมการจัดการโรงเรือนอัตโนมัติ เพื่อช่วยในการปรับสภาพแวดล้อมโรงเรือนให้เหมาะสมกับชนิดของพืชที่ปลูก, ระบบการให้น้ำอัตโนมัติขึ้นกับค่าความชื้นในดินทำให้บริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบบจะสามารถควบคุมบริหารจัดการการเพาะปลูกได้ทุกที่และทุกเวลาผ่านสมาร์ทโฟน รวมไปถึงการให้คำปรึกษาการออกแบบโรงเรือนให้เหมาะสมตามชนิดของพืชที่ปลูก ซึ่งในปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรนำระบบดังกล่าวไปใช้งานจริงแล้วในหลายพื้นที่มากกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ

ส่วน ลักษณะของ นวัตกรรมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ เป็นการออกแบบโรงเรือนระบบปิดซึ่งระบบควบคุมการจัดการโรงเรือนอัตโนมัติ ตามชนิดของพืช ด้วยระบบ IOT จัดการน้ำ ปุ๋ย อุณหภูมิ ความชื้น ในโรงเรือน โดยโปรแกรมควบคุมผ่าน smartphone โดยโรงเรือนจะปรับสภาพแวดล้อม ด้วยการออกแบบความสูงที่เหมาะสม ลดความร้อน มีระบบอัตโนมัติควบคุม การทำงานพัดลมดูดอากาศร้อนใต้หลังคา ระบบปรับลดอุณหภูมิให้กับพืช และม่านบังแสงภายในโรงเรือน วัสดุประกอบโรงเรือน ที่ได้มาตรฐานและคุณภาพสากล ด้วยเหล็กมีคุณภาพดีเหมาะสมกับงานด้านการเกษตร และระบบการให้น้ำในโรงเรือนแบบครบวงจร ออกแบบให้เหมาะสมตามชนิดของพืชและพื้นที่การเพาะปลูก ไม่ต้องห่วงเรื่องพืชขาดน้ำ/ปุ๋ย

ทั้งนี้ ระบบ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ ที่เรากำลังพูดถึงในครั้งนี้ ทางศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเลกทรอนิกส์ ได้ใช้ชื่อว่า Agri-beyond เป็นระบบที่สามารถติดตามข้อมูลสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทางการเกษตรรวมถึงการใช้งานด้านอื่นๆ ได้หลากหลาย โดยใช้เซ็นเซอร์ที่เหมาะสมในการวัดอุณหภูมิ และความชื้นอากาศ ความเข้มแสง ความชื้นดิน ปริมาณน้ำฝน ความเร็วและทิศทางลม เป็นต้น

โดยคุณสมบัติเด่น ของ Agri-beyond ติดตามข้อมูลสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ในช่วงเวลาเดียวกัน แบบ Real time monitoring ตั้งค่าที่ต้องการควบคุม (lower-upper limit และแจ้งเตือนในกรณีที่ค่าต่างๆที่กำลังติดตามออกนอกช่วงควบคุมที่ตั้งไว้ บันทึกข้อมูลได้ถึง 1 ปี มีฟังก์ชันในการสั่งงานอุปกรณ์ต่างๆ ตามค่าที่เซนเซอร์ วัดได้ และอุปกรณ์ Agri – beyond นี้ ยังสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์และรับส่งข้อมูลระหว่างกันด้วยเทคโนโลยีไร้สาย เช่น WiFi เป็นต้น สามารถส่งข้อมูล แจ้งเตือน และสั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายใช้งานสะดวก

สำหรับราคาอุปกรณ์กล่องควบคุมดังกล่าว อยู่ที่ 20,000 บาท ซึ่งสามารถควบคุมการปลูกพืชในโรงเรือน และพืชที่ปลูกนอกโรงเรือน ควบคุมได้ในพื้นที่ หรือ โรงเรือนที่อยู่ในบริเวณเดียวกันเท่านั้น โดยไม่ได้จำกัด ว่าจะควบคุมได้ในพื้นที่เท่าไหร่ แต่ขอให้อยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน ซึ่ง ระบบดังกล่าว ช่วยให้การปลูกพืชบางชนิดที่ต้องอาศัยภูมิอากาศที่เหมาะสม อย่างพืชเมืองหนาว สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ เพียงแต่ใช้การควบคุมอุณหภูมิ และปลูกในโรงเรือน ที่สำคัญคือ ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแปลงเกษตรที่ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว ได้แก่ โรงเรือนปลูกมะเขือเทศสีดา เมล่อน ผักสลัด ฯลฯ หลังจากติดอุปกรณ์ดังกล่าว ช่วยให้คนสูงอายุ สามารถทำการเกษตรได้ โดยไม่ต้องจ้างแรงงาน และผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้ ทาง ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเลกทรอนิกส์ ได้ทำการอบรมเกษตรกร ในโครงการฟาร์มแม่นยำ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้เงินทุนสนับสนุน ในการลงทุนอุปกรณ์ให้ก่อน และให้เกษตรกรผ่อนชำระ ในภายหลัง

กลุ่มเกษตรกรที่สนใจสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อขอเข้าไปศึกษาดูงานเพื่อเรียนรู้และนำมาปรับใช้กับแปลงเกษตรและโรงเรือนของตัวเองได้ ติดต่อและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) สวทช. 51/4 หมู่ 1 ถนนสุวินทวงศ์ ตำบลวังตะเคียน อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000
โทร. 08-5109-9106, 08-7396-9449




https://mgronline.com/smes/detail/9600000085732



โรงเพาะเห็ดระบบ ECMV ใหม่ล่าสุด เผยแพร่เมื่อ 12 ส.ค. 2017

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น