วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562

สัมผัสตลาดเครื่องสำอางในลาว


“นอกจากบรรดาองค์ความรู้ในการสร้างแบรนด์ สิ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น คือการมองหาช่องทางโอกาสใหม่ๆในตลาด เพราะถ้ามีตลาดมากขึ้น ย่อมหมายถึงกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อที่จะเป็นลูกค้าเราก็ย่อมมีมากขึ้น”

     ในทุกวันนี้ตลาดเครื่องสำอางของลาวมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คนลาวมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทยและมองว่าราคามีความสมเหตุสมผล แตกต่างจากสินค้าแบรนด์นำเข้าจากเกาหลีที่ขายในห้าง ที่ถูกมองว่ามีราคาแพงเกินไป ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าจากเวียดนามและจีนเป็นของเกรดต่ำกว่า แม้จะมีราคาถูกกว่าก็ตาม
ทำไมตลาดเครื่องสำอางลาวจึงน่าสนใจ ?
     “1286,263,357 บาท” คือมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทสบู่ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2560 ที่ไทยส่งไปยังลาว มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29.32 มากกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.03 เท่านั้นเอง
     การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดเครื่องสำอางในลาว เป็นผลมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 62 ของประชากรทั้งหมดอยู่ในวัยทำงาน คอยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศ จึงถือเป็นกลุ่มบริโภคเป้าหมายที่มีศักยภาพการบริโภคและกำลังซื้อที่มองข้ามไม่ได้ ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมความงามของลาวยังไม่มีกำลังผลิตเพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีสินค้าทั้งจากไทย จีน เวียดนาม ตลอดจนเกาหลี เข้ามาวางจำหน่ายในลาว
     อย่างไรก็ตามสินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยส่วนใหญ่ได้รับความนิยมจากคนลาว ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเท่านั้น เนื่องจากคนลาวมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทยและมองว่าราคามีความสมเหตุสมผล แตกต่างจากสินค้าแบรนด์นำเข้าจากเกาหลีที่ขายในห้าง ที่ถูกมองว่ามีราคาแพงเกินไป ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าจากเวียดนามและจีนเป็นของเกรดต่ำกว่า แม้จะมีราคาถูกกว่าก็ตาม นอกจากนี้คนลาวนิยมเสพสื่อจากไทย เช่น ดูช่องทีวีไทย ทำให้ได้รับอิทธิพลจากดารา นักร้องและสื่อโฆษณาของไทยเช่นเดียวกับคนไทย ทั้งหมดนี้จึงทำให้สินค้าจากไทยมีแต้มต่อมากกว่าสินค้าชาติอื่นๆในเรื่องนี้พอสมควร
“ลาว” ช่องทางเริ่มต้นตลาดเครื่องสำอางในต่างประเทศ

-ลาวเป็นตลาดส่งออกเครื่องสำอาง 5 อันดับแรกของไทย และมีการขยายตัวสูงที่สุด

-อัตรา GDP เติบโตสูงถึงร้อยละ 7 ต่อปี สูงเป็นอันดับ 2 ของชาติในภูมิภาคอาเซียน

- รัฐบาลช่วยผลักดันและส่งเสริมการค้าการลงทุน เช่น จัดงานแสดงสินค้าสุดยอดแบรนด์ไทย (Top Thai Brands) ,งานแสดงสินค้าไทย (Mini Thailand Week)

- Land link เชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมกับประเทศต่างๆทั้งไทย กัมพูชา เวียดนาม และจีน

-มีวัฒนธรรมและภาษาคล้ายคลึงกับคนไทย ไม่ต้องปรับตัวมาก
     มุมมองปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ลาวมีฐานะเป็น Land link เชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมกับประเทศต่างๆทั้งไทย กัมพูชา เวียดนาม และจีน ทำให้การกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ซึ่งสามารถเลือกช่องทางขนส่งสินค้าได้หลากหลายเส้นทาง ทั้งคมนาคมทางบก คมนาคมทางน้ำ หรือคมนาคมทางอากาศ ทำให้การติดต่อขนส่งมีความสะดวก รวดเร็ว  และด้วยรูปแบบวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับคนไทย เป็นข้อดีให้ผู้ประกอบการสามารถสื่อสารกับคนลาวได้โดยไม่ต้องฝึกเรียนภาษา ซึ่งข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่าตลาดเครื่องสำอางในลาว เป็นตลาดส่งออกเครื่องสำอางที่สำคัญใน 5 อันดับแรกของไทยและมีการขยายตัวสูงสุด ลาวจึงเหมาะเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ประกอบการที่จะลุยตลาดเครื่องสำอางในต่างประเทศ

ผลิตภัณฑ์กลุ่มไหนที่ได้รับความนิยมจากคนลาว ?
     ข้อมูลจากกรมศุลกากรระบุว่ากลุ่มเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ส่งออกไปลาว ในช่วงมกราคมถึงมีนาคมปี 2560  สูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม , เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลฟันและภายในช่องปาก มีมูลค่ารวมกันกว่า 525,653,266 บาท หรือประมาณร้อยละ 84 ของการส่งออกกลุ่มเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทั้งหมด ทั้งนี้เมื่อเจาะลึกเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอางพบว่าผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ครีมกันแดด และโลชั่น มีมูลค่ามากที่สุด ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์แป้งและเมคอัพ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวลาวที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ คือมีรสนิยมชอบสินค้าไทยและดาราไทย เสพสื่อจากทีวีไทย เช่น ช่อง 3 และช่อง 7 ทำให้รับรู้เทรนด์และได้รับอิทธิความงามจากประเทศไทยค่อนข้างมาก จึงมีพฤติกรรมค่านิยมเรื่องผิวขาวใส สวยสุขภาพดี ไม่ต่างจากของคนไทย

     อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ความงามจากประเทศไทยจำนวนไม่น้อยที่จำหน่ายในลาว ไม่มีตรา อย. หรือมาตรฐานใดๆรองรับ เพียงแต่อาศัยภาพลักษณ์ความเป็นสินค้าจากประเทศไทยเท่านั้นในชูจุดขาย จึงมองว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่มีแบรนด์สินค้าอยู่แล้ว สามารถเข้าไปขยายตลาดและสร้างฐานลูกค้าเพิ่มเติมได้ไม่ยาก โดยใช้จุดแข็งเรื่องมาตรฐานและคุณภาพ นอกเหนือจากภาพลักษณ์สินค้าตีตรา Made in Thailand นอกจากนี้การนำเสนอจุดเด่นของสินค้าในประเทศลาว ควรเน้นสื่อภาพลักษณ์ของสินค้าไทยเป็นหลัก และค่อยอธิบายเพิ่มเติมถึงสารสกัดหรือนวัตกรรมชั้นนำจากต่างประเทศ เพราะถ้าเคลมว่ามาจากเกาหลี ญี่ปุ่น คนลาวจะมองว่าราคาแพงเกินไปนะครับ


สำรวจตลาดเครื่องสำอางลาว ในปี 2019

วันที่แก้ไขล่าสุด: 20/03/2019 | จำนวนผู้เข้าชม: 2336

ทุกวันนี้ การขายสินค้าในต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เล็กหรือแบรนด์ใหญ่ แค่มีแฟนเพจบนเฟสบุ๊ค สำหรับเปิดร้านค้าออนไลน์ ก็สามารถขายสินค้าข้ามประเทศได้แล้ว ซึ่งจุดเปลี่ยนของแบรนด์เล็กหลายแบรนด์ เติบโตเป็นแบรนด์รายใหญ่ ประสบความสำเร็จในวันนี้ คือ กล้าคิดต่าง-กล้าลงมือทำ โกอินเตอร์ ไปขยายตลาดเครื่องสำอางในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า ไม่ได้จำกัดโอกาสตนเองอยู่เฉพาะตลาดในประเทศอย่างเดียว
“ປະເທດລາວ” ตลาดเครื่องสำอางพันล้านที่โตก้าวกระโดด
ลาวมีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร เล็กกว่าประเทศไทยครึ่งหนึ่ง แต่เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าความงามจากประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุดชาติหนึ่งในอาเซียน โดยข้อมูลการส่งออกของกรมศุลกากร พบว่า ลาวนำเข้าสินค้าความงามจากไทยเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 234 ล้านบาท ทำให้เครื่องสำอางไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด จากมูลค่าส่งออก 836 ล้านบาทในปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 2,715 ล้านบาท ในปี 2561 มีการขยายตัวรวดเร็วถึง 224 เปอร์เซ็นต์ ในเวลาเพียง 8 ปี

ซึ่งถ้าเทียบกับตลาดความงามในพม่าหลังเปิดประเทศจนถึงปัจจุบัน (2554-2561) ตลาดลาวถือว่ามีการขยายตัวสูงกว่า และปัจจุบันก็มีมูลค่าตลาดใกล้เคียงกับประเทศพม่า ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีประชากรน้อยกว่าก็ตาม (7:54 ล้านคน) สะท้อนให้เห็นว่า สินค้าความงามจากประเทศไทยสามารถครองใจชาวลาวได้

ขายคนลาว ขายอะไรดี?
สำหรับในปี 2561 ที่ผ่านมา ลาวนำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 2,715,491,829 บาท โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามที่คนลาวนิยมมีสัดส่วนการนำเข้า ดังนี้
จากข้อมูลตัวเลข การนำเข้าสินค้าของประเทศลาว จะเห็นได้ว่าสินค้าประเภทการดูแลเส้นผม และ เครื่องสำอางบำรุงผิว มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน แสดงให้เห็นว่า แทบจะหัวจรดเท้า คนลาวใช้สินค้าเพื่อการดูแลตัวเองจากประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น แชมพู, ยาสระผม, ครีมบำรุงผิว และ เครื่องสำอางแต่งหน้าต่างๆ ทั้งนี้ เพราะผู้บริโภคชาวลาว เชื่อมั่นใจสินค้าไทย ในด้านของประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของสินค้า โดยรับรู้ผ่านสื่อไทย เช่น ละครทีวี และ วิทยุกระจายเสียง ที่รับสัญญาณจากประเทศไทย ดังนั้น จึงพูดได้ว่า อะไรที่คนไทยใช้ และ ดังในประเทศไทย ก็มีโอกาศสูง ที่จะได้รับความนิยมในประเทศลาว
เตรียมตัวอย่างไร ให้พร้อมบุกตลาดลาว
นอกจากเปิดร้านค้าออนไลน์ผ่านทางสื่อโซเชี่ยล เพื่อขายสินค้าข้ามประเทศแล้ว อีกหนึ่งช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ที่มีประสิทธิภาพ คือ การสร้างเครือข่ายผ่านศูนย์กระจายสินค้าที่เป็นร้านขายส่งรายใหญ่บริเวณจังหวัดติดชายแดนทั้งหลาย เช่น อุบลราชธานี หนองคาย มุกดาหาร ซึ่งเป็นแหล่งขายสินค้าที่คนลาวนิยมมาจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค และสินค้าความงามกันมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะต้องเสียค่าบริการสำหรับการฝากวางสินค้า แต่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ทั้ง ขายปลีกและขายส่ง เพราะศูนย์กระจายสินค้าเหล่านี้ มีบริการที่จัดส่งสินค้าไปประเทศลาวตามคำสั่งซื้อ และ คลังจัดเก็บสินค้า นับได้ว่าเป็นการลดภาระงานสำหรับผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถกลับมาโฟกัสที่การตลาดของแบรนด์ ทำให้สินค้า เป็นที่รู้จัก และเข้าถึงคนลาวทุกกลุ่ม ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ ได้อย่างเต็มที่
สนใจปรึกษาการสร้างแบรนด์และข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม
ติดต่อ 098-956-6163
ช่องทาง Line Official : @TNPOEM  
ครึ่งปีแรก 2561 พบว่าสินค้าที่มีความต้องการสูงสุดที่ลาวนิยมนำเข้าจากไทย 3 อันดับแรกอยู่ในกลุ่มของ น้ำมันสำเร็จรูป มูลค่า 466.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  รถยนต์รวมทั้งชิ้นส่วนรถยนต์ มูลค่า 144.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  และเหล็ก มูลค่า 116.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สปป.ลาวเป็นประเทศที่มีมนต์เสน่ห์เป็นเอกลักษณ์แห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกับไทย และมีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนาน การติดต่อสื่อสารรวมถึงการเดินทางไปมาค่อนข้างสะดวก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยต้องการบุกตลาดทำธุรกิจในลาว แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าถึงความต้องการสินค้าของชาวลาวได้อย่างแท้จริง ก่อนที่จะคิดไปไกลกว่านี้เพื่อเตรียมขยับขยายการลงทุน มาดูกันก่อนว่ามีสินค้าอะไรบ้างที่ส่งออกไปลาวแล้วสามารถทำเงินได้

ประเทศลาวต้องการสินค้าอะไรมากที่สุด ?

ด้วยภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนติดกัน ใช่ว่าสิ่งที่ชาวไทยชื่นชอบ ชาวลาวก็จะชื่นชอบตามไปด้วย เรื่องของรสนิยมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทึกทักเอาเองได้ แม้ว่าความต้องการจะคล้ายคลึงกัน แต่ในการทำธุรกิจต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการแม้จะขายได้ในไทย แต่ต้องดูด้วยว่าสินค้าของเราจะได้รับความสนใจในลาวมากน้อยแค่ไหน มีอะไรที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการของกลุ่มลูกค้าโดยที่ไม่เสียความเป็นตัวตนของแบรนด์ได้หรือไม่  หรือนำเสนอสินค้าใหม่ที่ยังไม่มีการเปิดตลาดมาก่อน ตรงส่วนนี้ต้องทำการบ้านให้ดี เพราะนี้คือการค้าขายข้ามประเทศ ไม่ใช่ข้ามจังหวัด
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา สปป.ลาว ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง  เพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย จึงส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นคือสินค้าที่มาจากไทย ด้วยคุณภาพและมาตรฐานการผลิตเป็นที่ยอมรับ สินค้าไทยหลายชนิดถูกใจชาวลาว เมื่อมองในภาพรวมระดับประเทศพบว่ากลุ่มสินค้าที่น่าสนใจคือ สินค้าที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ เป็นต้น  และสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรุงรส อาหารแปรรูป และเครื่องดื่ม ควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ทิศทางตลาด และกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆเช่นกัน
หลักสูตรส่งออกลาว
รายละเอียดหลักสูตร >> คลิ๊กที่นี่
สำหรับท่านเจ้าของธุรกิจที่ต้องการส่งออกสินค้าไปลาว  ต้องการผู้ช่วยทำการตลาดทั้งออนไลน์ และ ออฟไลน์ ในราคาที่เหมาะสม เรามีทีมงานให้บริการทำการตลาดครบวงจรใน สปป.ลาว สอบถามทัก >> คลิ๊กที่นี่

10 สินค้าส่งออกลาว ขายดี มีกำไรเงินล้าน

เมื่อดูจากภาพรวมการส่งออกสินค้าจากไทยไปลาว ตามข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ในครึ่งปีแรก 2561 พบว่าสินค้าที่มีความต้องการสูงสุดที่ลาวนิยมนำเข้าจากไทย 3 อันดับแรกอยู่ในกลุ่มของ น้ำมันสำเร็จรูป มูลค่า 466.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  รถยนต์รวมทั้งชิ้นส่วนรถยนต์ มูลค่า 144.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  และเหล็ก มูลค่า 116.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การขยายตลาดต่างประเทศไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าแบรนด์ดัง หรือเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับกลุ่มธุรกิจ SMEs ไทยก็มีโอกาสเช่นกัน ยังมีช่องว่างในการเติบโตอีกเยอะ เพียงแค่ต้องมองหาลู่ทางในการทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก นี่คือสินค้า 10 ประเภทที่น่าสนใจสำหรับส่งออกไปยังลาว

1.กลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม

การที่ผู้คนต่างหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ กลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง สินค้าในกลุ่มมีตั้งแต่อาหารเสริม น้ำหอม ไปจนถึงของใช้ส่วนบุคคล (personal care) การให้ความสำคัญกับสุขภาพและความงามทำให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง ซึ่งมาพร้อมกับแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น การให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง สินค้ามีคุณภาพดี และการรีวิวสินค้ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อเป็นอย่างมาก เน้นกลยุทธ์สร้างความแตกต่าง  อาจมีการปรับแต่งผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า เช่น กลิ่นน้ำหอมตามชอบ การใส่ส่วนผสมลงในสกินแคร์ที่เน้นการแก้ไขปัญหาผิวพรรณ

2.เครื่องสำอาง

อีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่น่าจับตามอง สำหรับผู้หญิงแล้วลิปสติกไม่เคยมีแค่แท่งเดียว ด้วยลูกเล่นที่หลากหลายจึงตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการซื้อสินค้าจากหลายแบรนด์ ไม่ยึดติดอยู่ที่แบรนด์ดังเพียงอย่างเดียว และจุดเด่นคือสามารถเปรียบเทียบคุณภาพและราคาสินค้าได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งส่งผลดีต่อผู้บริโภค ในขณะเดียวกันที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง เป็นการท้าทายให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

3.ผลิตภัณฑ์กลุ่มสปา และสมุนไพรไทย

แม้จะใกล้เคียงกับกลุ่มสินค้าความงาม แต่สินค้ากลุ่มนี้มีความจำเพาะและเป็นเอกลักษณ์ ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงพิษจากสารเคมี จึงต้องหวนกลับมาใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ โดยเฉพาะสมุนไพรทั้งจากฝั่งลาวก็มีชื่อเสียงหลายชนิด รวมถึงฝั่งไทยที่ขึ้นชื่อในเรื่องการทำสปา ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ง่าย มีความเป็นธรรมชาติสูง กลิ่นหอมอ่อนๆ และเหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป (Home Use Product) เช่น น้ำมันทาตัว สบู่ แชมพู ยาสีฟันสมุนไพร เป็นต้น

4.เฟอร์นิเจอร์

สปป.ลาว กำลังได้รับความนิยมจากบรรดานักท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจโรงแรม และร้านอาหารจึงขยายตัวสูงขึ้น สำหรับการรองรับลูกค้าระดับพรีเมี่ยมนั้นอาจจะต้องมีการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากต่างประเทศ นี่เป็นการสร้างโอกาสให้สินค้าจากไทยเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น เนื่องจากใช้วัสดุที่มีคุณภาพดี การออกแบบที่สวยงาม ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ ตู้ ที่ทำจากไม้  หวาย โลหะ และพลาสติก ด้วยฝีมือที่ไม่เป็นรองใครทำให้สินค้ากลุ่มนี้น่าสนใจไม่แพ้กัน

5.ของตกแต่งบ้าน

ของตกแต่งบ้านไม่ใช่แค่สิ่งของที่วางโชว์ให้บ้านดูสวยขึ้น เช่น โคมไฟ ม่าน ชั้นวางของติดผนัง อาจมีการเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์ หากใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่าง เศษไม้ยางพารา ผักตบชวา เส้นใยพืช นอกจากจะเป็นจุดขายแล้วยังสะท้อนความงามตามธรรมชาติของวัสดุได้เป็นอย่างดี

6.อาหารแปรรูป

แม้ความนิยมในอาหารแปรรูปของลาวจะไม่สูงเท่าในไทย อย่างเช่น เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารสำเร็จรูปที่ต้องอุ่นก่อนทาน แต่ถ้าเป็นพวกขนมขบเคี้ยวจากธัญพืช ขนมปังกรอบ หรือทำจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ผัก ผลไม้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย อยู่ที่ว่าจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความน่ารับประทานและถูกปากชาวลาวมากแค่ไหน

7.ของใช้ภายในบ้าน

ด้วยคุณภาพการผลิตที่ได้มาตรฐาน เมื่อเทียบกับสินค้าจากจีน ทำให้ของใช้ภายในครัวเรือนที่ผลิตจากไทยเป็นที่นิยมในลาว เช่น เครื่องครัวที่ทำจากไม้ เซรามิก สแตนเลส พวกกระทะ หม้อ ถ้วยชามต่างๆ หรือสินค้าที่ผลิตจากนวัตกรรมใหม่ ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานและการดำรงชีวิต

8.วัสดุก่อสร้าง

เมื่อเศรษฐกิจมีการขยายตัว การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนจึงเติบโตตามไปด้วย วัสดุก่อสร้างจากไทยส่งไปลาวมีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่อง แม้สินค้าจากจีนและเวียดนามจะทะลักเข้ามาในประเทศลาว โดยรวมแล้วมีคุณภาพแตกต่างกัน เพราะความคิดที่ว่าการก่อสร้างบ้านทั้งทีต้องใช้วัสดุคุณภาพดี มีแบบให้เลือกเยอะ และต้องเป็นที่ถูกใจของผู้อยู่อาศัย ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ขายแข่งกับรายใหญ่

9.สินค้าออร์แกนิค

หากย้อนกลับไปหลายปี เมื่อพูดถึงคำว่าออร์แกนิคอาจไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่สำหรับตอนนี้ถือเป็นโอกาสดีในลาว สินค้ากลุ่มนี้แม้จะได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่ม แต่จะเห็นได้ว่ากระแสกำลังค่อยๆมาอย่างต่อเนื่อง มีให้เลือกผลิตทั้งอาหารไปจนถึงสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

10.เครื่องประดับ

ในการซื้อสินค้า ชาวลาวที่มีฐานะดียินดีพร้อมจ่ายสินค้าที่มีคุณภาพและทันสมัย เครื่องประดับที่บ่งบอกถึงสถานะทางสังคมและอัญมณีต่างๆ จึงได้รับความนิยม ด้วยฝีมือที่ประณีตบวกกับดีไซน์ที่สวยงามยิ่งทำให้สินค้าดูโดดเด่นมากขึ้น รวมถึงการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าเป็นอีกทางที่ช่วยขยายโอกาสการค้า
แม้ไทยจะมีข้อได้เปรียบตรงที่เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของลาว สินค้าขึ้นชื่อว่าได้มาตรฐานและมีคุณภาพ แต่นั้นไม่ได้เป็นการการันตีว่าการส่งสินค้าไปขายที่ลาวจะประสบความสำเร็จเสมอไป ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งตัวผู้ประกอบการเอง รูปแบบสินค้า และตลาดที่จะรองรับ แต่หากค้นพบโอกาสแล้ว คงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรในการลองสักครั้งหนึ่ง ไม่แน่ว่านี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้
https://taokaemai.com/10-สินค้าส่งออกลาวโกยเงิ/

รู้ สู้ ศึก ! เจาะลึกตลาดความงาม 8 ประเทศอาเซียน
S! Money (Rewrite)
สนับสนุนเนื้อหา

จากข้อศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าธุรกิจความงามเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งในปี 2560 และครองแชมป์ธุรกิจดาวรุ่งต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 จึงไม่น่าแปลก ที่ธุรกิจความงามจะเป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยมที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจ ยิ่งได้เห็นมูลค่าของตลาดความงามในประเทศไทยที่มากถึง 250,000 ล้านบาท ที่ทำให้ธุรกิจความงามคึกคัก จนทำให้ผู้ประกอบการรายเก่าที่คุ้นเคย หรือผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เริ่มต้นทำธุรกิจ ต่างก็งัดกลยุทธ์สารพัดมาลงสนาม ประลองศึกความงามทั่วประเทศกันกว่า 1,800 ราย
ทุกสนามรบ ย่อมเต็มไปด้วยบาดแผล....เช่นเดียวกับธุรกิจความงามในประเทศไทยที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด หนทางเดียวที่จะทำให้ผู้ประกอบการความงามไม่ต้องรบกันเอง คือ ต้องมองหาโอกาสทางตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างยอดขาย ขยายกลุ่มลูกค้า ซึ่งกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากจะได้เปรียบเรื่องต้นทุนการขนส่งแล้ว มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมในอาเซียนยังมากถึง 500,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
1.ฟิลิปปินส์ : Philippine - The Value Considerations
ฟิลิปปินส์ เป็นตลาดหนึ่งในอาเซียนที่น่าจับตามองโดยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น จากอานิสงส์การค้าการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ รายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) 2016 เติบโตขึ้น 6.8% นอกจากนี้ปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมความงามในฟิลิปินส์น่าจับตามอง คือ ฟิลิปปินส์มีประชากรถึง 98 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และ 61.5% ของประชากรฟิลิปปินส์ อายุน้อยกว่า 30 และ 40% อายุน้อยว่า 20 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มผุ้บริโภคที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตของธุรกิจความงามในอนาคต ที่สำคัญคือ ปัจจุบันฟิลิปปินส์นำเข้าสินค้าความงามจากไทยกว่า 33% ซึ่งถือว่ามากเป็นลำดับที่ 1 ขณะที่นำเข้าจากอินโดนีเซียเป็นลำดับที่ 2 โดยมีสัดส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 21%
ชาวฟิลิปปินส์มีระบบคิดและวัฒนธรรมคล้ายชาวตะวันตก เพราะเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกมานาน มีรสนิยมค่อนข้างหลากหลาย เน้นความเรียบง่าย สะดวก เหมาะสมกับรายได้ ชาวฟิลิปปินส์มักมองหาแบรนด์ที่ควบรวมหลากคุณสมบัติการบำรุงในหนึ่งเดียว เพราะหมายถึงคุ้มค่าที่จะจ่าย ทำให้ปัจจุบันมีสินค้าความงามที่ช่วยลดเลือนริ้วรอย ขาวกระจ่างใส และป้องกันแสงแดดในหลอดเดียว โดยนิยามความงามของชาวฟิลิปปินส์นั้น ต้องยิ้มสวย ผิวพรรณสะอาดหมดจด รูปร่างสวยงามสมส่วน และมีผิวขาว กระจ่างใส ซึ่งหากใครมีคุณสมบัติความงามเหล่านี้จะได้รับโอกาสมากกว่าในการทำงาน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตลาดความงามในฟิลิปปินส์ เติบโต 4.2% และมีมูลค่ากว่า 3.5 พันล้านเหรียญ โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Shower and Hair Care ได้รับความนิยมมากที่สุด นอกจากนี้ โซเซียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซมีบทบาทสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมความงามในฟิลิปินส์ เป็นช่องทางสำคัญสำหรับใช้สื่อสารเพื่อสร้างแบรนด์ให้ดูน่าเชื่อถือและแตกต่างจากตลาดล่าง

2.เมียนมา : Myanmar - Plenty of Potential
ตลาดความงามของเมียนมาเติบโตอย่างต่อเนื่องและอนาคตสดใส ด้วยจำนวนประชากร 53 ล้านคน และการผ่อนปรนจากการคว่ำบาตรของอเมริกาและยุโรป ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัว ซึ่งคาดการณ์ว่าชนชั้นกลางของเมียนมาจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในปี 2020 ประกอบกับรัฐบาลยังเพิ่มเงินเดือนข้าราชการอีก 50%เพื่อให้ข้าราชการที่มีอยู่ 1.5 ล้านคนมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงในปัจจุบันประชากรเมียนมากว่าครึ่งอายุน้อยกว่า 30 ปี แน่นอนว่าปัจจัยทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าในกลุ่มความงามและ Personal Care โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการไทย เพราะชาวเมียนมาคุ้นเคยกับสินค้าความงามจากยูนิลิเวอร์ และค่อนข้างเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าไทย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับจีนแม้ราคาของสินค้าไทยจะสูงกว่าก็ตาม และที่สำคัญในปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตรายใดในเมียนมาทำแบรนด์เครื่องสำอางของตน มีเพียง ทานาคา เป็นของที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เป็นที่นิยมกับคนทุกเพศทุกวัย เพราะคุณสมบัติในการบำรุงผิวและป้องกันแสงแดด
ตลาดความงามในเมียนมามีศักยภาพมาก มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 318 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 14% ต่อปี หรือ โดยยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมขยายตัว 97.5% รองลงมาคือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า 70.25% ส่วนกลุ่มดูแลและบำรุงผิวกายเติบโต 63% นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า ผู้ที่มีรายได้ระดับกลางและระดับสูงในเมียนมา นิยมเลือกใช้บริการสถานเสริมความงามและบริการทางการแพทย์ในไทยและสิงคโปร์ โดยอัตราการใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 150,000-200,000 บาท/ครั้งอีกด้วย 

สำหรับการทำการตลาดในเมียนมานั้น แนะนำว่าควรหาพันธมิตรทางธุรกิจในเมียนมาให้ได้ก่อน หรือการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายผู้ไทยอาจเริ่มจากเข้าไปค้าขายตามชายแดนก่อน หรือ ออกงานแสดงสินค้าที่เมียนมา โดยสินค้าที่ขายควรลงรายละเอียดสินค้าอย่าง เช่น ฉลาก วิธีใช้ ต่างๆ เป็นภาษาเมียนมา ส่วนสื่อประชาสัมพันธ์ที่ชาวเมียนมา เข้าถึงมากกว่า 94 % คือ ทีวี และชาวเมียนมากว่า 48% ยังตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการเพราะโฆษณาทีวี ซึ่งค่าโฆษณาทีวีช่วงไพรม์ไทม์ มีราคาประมาณ 48,000 บาท ต่อ 30 วินาทีเท่านั้น ขณะที่โฆษณานิตยสารราคาประมาณ 5,000 - 10,000 บาท ขณะที่สื่อออนไลน์จะเป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงเช่นกัน เพราะชาวเมียนมาเล่นเฟซบุ๊กถึง 62.6% ตามมาด้วยไลน์และยูทูบ คิดเป็นสัดส่วน 21% และ 18% ตามลำดับ
3.กัมพูชา: Cambodia - Import Over-Reliant
กัมพูชาเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วยเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้าไปลงทุนสูงขึ้นทุกปี กัมพูชาจึงเป็นตลาดที่กำลังพัฒนาที่น่าจับตา แม้ในปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อไม่สูงนัก การตัดสินใจซื้อแต่ละครั้งจะเน้นพิจารณาจากประโยชน์ของ สินค้าและราคาเป็นสำคัญ แต่ก็กำลังขยับฐานะสู่ชนชั้นกลาง แนวโน้มความนิยมสินค้าฟุ่มเฟือยและสิ่งอำนวยความสะดวกจึงเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ปัจจุบันสินค้าอุปโภคบริโภคยังมีให้เลือกไม่หลากหลายนัก ส่วนใหญ่เป็น สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน มักเป็นสินค้าจากไทย จีน และเวียดนาม ผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สกินแคร์ เครื่องสำอาง ครีมกันแดด ล้วนนำเข้าจากประเทศไทย โดยยอดการนำเข้าในปี 2014 คือ 12.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2013 ที่นำเข้าจากไทยเพียง 4.16 ล้านบาท โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สินค้าความงามจากต่างประเทศได้ได้รับความนิยมมากในกัมพูชา คือ กัมพูชาไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเครื่องสำอาง เนื่องจากต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากไทยและเวียดนาม ตลาดความงามกัมพูชาจึงเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีศักยภาพที่ผู้ประกอบการไทย
กัมพูชามีประชากรโดยประมาณ 15 ล้านคน มีค่าเฉลี่ยของอายุอยู่ที่ 27 ปี ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดในอาเซียน และ 74% ของประชากรนั้น อายุน้อยกว่า 34 ปี ตลาดความงามของกัมพูชาพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างเป็นเทศเป็นหลัก ซึ่งในปี 2014 นั้น มีอัตราการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเพิ่มขึ้นกว่า 400% ซึ่งปัจจับหลักที่หนุนให้คลาดความงามเติบโตอย่างมากนั้น นอกจากการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง และรายได้ของคนกัมพูชาแล้ว คนกัมพูชามีความเชื่อว่ารูปลักษณ์ที่ดีนั้นสื่อถึงฐานะทางการเงินที่ดี ทำให้ประชากรส่วนมากหันมาใส่ใจสุขภาพและความงามของตนเองมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลของศูนย์ธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการวิจัยเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรม ผู้บริโภคชาวกัมพูชา พบว่า ชาวกัมพูชากว่า 60% ชอบออกกำลังกายตามสวยสาธารณะ, 39% ใช้สกินแคร์, 21% ต้องแต่งหน้าก่อนออกจากบ้าน ชาวกัมพูชาจะเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทยและคิดว่าราคาเหมาะสม และถ้าให้เลือกระหว่างสินค้าของไทยและเวียดนามในราคาที่เท่ากันหรือแตกต่างกันไม่มากคนกัมพูชาจะเลือกสินค้าไทย
4.สปป.ลาว : Laos -Rising Demand for Beauty Product
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ลาวเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงที่สุดในอาเซียนอยู่ที่ 29% มีการคาดการณ์ว่า GDP ลาวจะโตต่อเนื่อง 8% ตั้งแต่ปี 2013 จนถึง 2018 และรัฐบาลลาวเองก็ตั้งเป้าว่า สปป.ลาว จะเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลางภายในปี 2020 แม้ สปป.ลาว จะเป็นประเทศที่มีประชากรไม่มากนัก แต่ประชากรส่วนใหญ่ในอยู่ในวัยทำงาน (อายุระหว่าง 15-64 ปี) มีสัดส่วนร้อยร้อยละ 62 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตลาดเครื่องสำอางประเภทผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณและเสริมความงาม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าและครีมกันแดด แป้งฝุ่น และเครื่องสำอางค์ต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะมีแรงซื้อเพิ่มขึ้นอีกใน 2-3 ปีข้างหน้า ตามจำนวนประชากรวัยทำงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตลาดมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่สินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดยังมีให้เลือกไม่หลากหลายนัก สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้า จากไทย จีน และเวียดนาม แต่ถ้าเป็นกลุ่มสินค้าที่ใช้บริโภค ของกินของใช้ สินค้าที่ใช้กับร่างกายและมีผลต่อสุขภาพ ชาวลาวเชื่อถือ ในคุณภาพ ความปลอดภัย และนิยมสินค้าไทยมากกว่าสินค้าจาก จีนและเวียดนาม
การคืบคลานเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน จะกระตุ้นให้เครื่องสำอางจากต่างประเทศ รวมถึงเครื่องสำอางของไทยได้รับความสนใจจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ และจากวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับไทย ความชื่นชอบในสื่อโทรทัศน์วิทยุและดารานักแสดงไทย จึงถือเป็นโอกาสให้เครื่องสำอางแบรนด์ไทยสามารถเข้าถึงประชากรลาวได้มากขึ้น โดยสินค้าเครื่องสำอางของไทยสามารถกระจายเข้าสู่ สปป.ลาว ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า มินิมาร์ท และตลาดกลางแจ้ง รวมถึงร้านขายของชำซึ่งตั้งอยู่ตามแหล่งชุมชนต่างๆ ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม ขณะเดียวกันการส่งออกเครื่องสำอางของไทยยังได้อานิสงส์จากการเข้าถึงสื่อออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในชุมชนเมือง ซึ่งช่วยกระตุ้นความต้องการสินค้าความงามเพิ่มขึ้น
5.เวียดนาม : Vietnam - Up From a Low Base
เวียดนามเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว GDP เพิ่มขึ้น 6.2 % ในปี 2016 เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นนี้ส่งผลให้ความต้องการด้านความสวยความงามของชาวเวียดนามเพิ่มขึ้นด้วย จะเห็นได้จากยอดขายเครื่องสำอางที่เพิ่มขึ้น 12% ในปี 2015 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท และเติบโตขึ้นอีก 4% ในปีที่ผ่านมา ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดความงามในเวียดนามเติบโต คือ การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากรในเวียดนาม การเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ร้านค้าออนไลน์ ประชาชนในเขตชนบทซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น และ จำนวนประชากรกว่า20 ล้านคน หรือ 40 % ในเวียดนามเป็นผู้หญิง อายุ 15-29 ปี
รสนิยมการบริโภคของชาวเวียดนามเริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางที่ต้องการสินค้าระดับกลางถึงบนมากขึ้น ชาวเวียดนามในเมืองใหญ่มักนิยมความทันสมัย ชื่นชอบสินค้าแฟชั่น สินค้าไอที คนเมืองวัยแรงงานและวัยรุ่นมีความอ่อนไหวต่อกระแสความนิยมในตลาดโลกมากขึ้น ผู้บริโภคชาวเวียดนามให้ความสนใจสินค้าความงามที่มาจากธรรมชาติ 100% แต่อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการบริโภคชาวเวียดนามแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศ กลยุทธ์การเข้าถึงตลาดจำเป็นต้องชัดเจนและ เหมาะสม อาทิ ทางตอนใต้พิจารณามูลค่าสินค้า เป็นสำคัญ ขณะที่ทางตอนกลางให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า ส่วนทางเหนือจะค่อนข้างมัธยัสถ์และพิจารณาประโยชน์และความคงทนเป็นสำคัญ ทำให้ผู้หญิงจากเวียดนามทางใต้ จะมีกำลังซื้อมากกว่าผู้หญิงจากเวียดนามเหนือเล็กน้อย โดยสินค้าความงามที่ได้รับความนิยมคือ โฟมล้างหน้า ครีมกันแดด และ ลิปบาล์ม
กว่า 90% ของตลาดความงามในเวียดนามถูกครอบครองโดยนักลงทุนต่างชาติ โดยแบ่งเป็น เกาหลี 30%, ยุโรป 23%, ญี่ปุ่น 17%, ไทย 13%, อเมริกา 10% และอื่นๆ 7 % ชาวเวียดนามคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์เพื่อความงามของเกาหลี และมักมองว่าแบรนด์เกาหลีเป็นแบรนด์ของวัยรุ่น ราคาจับต้องได้ และอินเทรนด์กับแฟชั่น และมักมองสินค้าจากอเมริกาว่าราคาแพง คุณภาพดี และเป็นแบรนด์สำหรับผู้ใหญ่ ขณะที่แบรนด์จากญี่ปุ่นเป็นแบรนด์คุณภาพดี และคุ้มค่า ส่วนแบรนด์ท้องถิ่นที่ได้รับความนิยม เช่น Saigon Thorakao Lanhao แต่แบรนด์เหล่านี้ก็ไม่ได้สร้างยอดขายในเวียดนามได้มากนัก ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อส่งออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า
แม้ตลาดเวียดนามจะเติบโตต่อเนื่องแต่หากเทียบมูลค่าตลาดความงามกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและฟิลิปินส์แล้ว ยังถือว่ามีขนาดเล็กว่าและตามหลังค่อนข้างมาก ปัจจัยหนึ่งเพราะเครื่องสำอางค์ ยังได้รับความนิยมไม่แพร่หลายนัก เพราะจากผลสำรวจพบว่ามี 44% ของผู้หญิงเวียดนามใช้เครื่องสำอางเป็นประจำ และเพียง 24% ของผู้หญิงเวียดนามเท่านั้นที่นิยมแต่งหน้าทุกวัน ทำให้เห็นได้ว่า การแต่งหน้ายังไม่เป็นที่นิยมของสาวชาวเวียดนามมากนัก แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มตลาดความงามของเวียดนามก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ผ่านการจัดจำหน่ายออนไลน์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต/ไฮเปอร์มาเก็ต และร้านค้าปลีกที่จำหน่ายเครื่องสำอางค์โดยเฉพาะก็กำลังได้รับความนิยมเช่นกัน
6.อินโดนีเซีย : Indonesia - Coming of Men's Grooming
ประเทศอินโดนีเซียมีเกาะมากกว่า 17,000 เกาะ มีจำนวนประชากรกว่า 250 ล้านคน ถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ประกอบกับเทรนด์ความงามที่เสริมให้ผู้บริโภคอยากมีผิวขาวกระจ่างใส ไร้จุดด่างดำ กลายมาเป็นความงามในอุดมคติของชาวอินโดนีเซีย ทำให้ ปัจจุบันมูลค่าตลาดความงามของอินโดนีเซียอยู่ที่ 3.6 พันล้านเหรียญโดยประมาณ และมีการคาดการจากยูโรมอนิเตอร์ว่า ตลาดความงามของอินโดนีเซียจะเติบโตต่อเนื่อง 17% ต่อปี
ปัญหาสำคัญของตลาดความงามในอินโดนีเซียนคือ โครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ อย่างระบบขนส่ง และการเดินทางที่ค่อนข้างยากลำบาก รวมถึงร้านค้าปลีกที่ช่วยกระจายสินค้ามีจำกัด อย่างไรก็ตามปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้รับการแก้ไขและพัฒนาขึ้นหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งเสริมให้ธุรกิจความงามเติบโตขึ้น ประกอบกับการเติบโตของอีคอมเมริ์ซที่ อินโดนีเซียเป็นตลาดอีคอมเมริซที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนมีมูลค่าตลาดมากถึง 1.1 พันล้านเหรียญ สอดคล้องกับผลสำรวจของ Nielsen ที่พบว่ายอดขายเครื่องสำอางในตัวเมืองของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 9.4 % ขณะที่ยอดขายในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นถึง 27.5 % โดยตลาดต่างจังหวัด จะเน้นขายสินค้าในกลุ่มสกินแคร์พื้นฐาน และเครื่องสำอางที่ติดทน ขณะที่การทำตลาดในเมืองของอินโดนีเซีย เน้นเสนอขายสินค้าไฮเอนด์เป็นหลัก
เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้สินค้าฮาลาล เป็นกลุ่มสินค้าที่เติบโตอย่างน่าจับตามอง รวมถึงผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Men Grooming ก็เติบโตเช่นกัน โดยสินค้าความงามของผู้ชายที่ได้รับความนิยมได้แก่ โฟมล้างหน้า ครีมบำรุง และลดเลือนริ้วรอยโดย ลอรีอัล อินโดนีเซีย มียอดขายสินค้าเพื่อผู้ชายมากขึ้น 300% และยอดขายโดยรวมก็เติบโต 30 % ทุกปีเช่นกัน
7.มาเลเซีย : Malaysia - Image Conscious
จำนวนประชากร 30 ล้านคน เป็นอันดับที่ 6 ของอาเซียน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มาเลเซียมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ กลุ่มหลักๆ คือ ชาวมาเลย์ ชาวจีน และชาวอินเดีย รสนิยมจึงแบ่งย่อยตามกลุ่มเชื้อชาติด้วย แต่กลุ่มผู้บริโภคที่มีระดับการศึกษาสูงและรายได้สูงมักสนใจและชื่นชอบวัฒนธรรมตะวันตก มีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าที่อำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันมากขึ้น นิยมสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น กลุ่มวัยรุ่นให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มีการใช้จ่ายสินค้าไอทีสูงกว่าด้านอาหารและการพักผ่อนอื่นๆ คนมาเลเซียมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและสนใจเรื่องข้อมูลข่าวสาร
ตลาดความงามในมาเลเซียมีมูลค่า 1.7 พันล้านเหรียญ และมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5.7% ต่อปี มาเลเซียเป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางฮาลาลรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยตลาดความงามฮาลาลทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 500 ล้านเหรียญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในมาเลเซีย คือ เครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า แต่งตา และลิปสติก สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของผู้หญิงมาเลเซียที่ต้องการสร้างความมั่นใจ และใส่ใจในภาพลักษณ์ของตนเอง โดยผลิตภัณฑ์ความงามที่โดนเด่นในมาเลเซีย คือ Sulwhasoo ของเกาหลี และ แบรนด์ที่ได้มาตราฐานฮาลาล อย่าง Crystal Dia จากเกาหลีเช่นกัน ขณะที่ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยจะมองหาแบรนด์ทางเลือกที่ราคาย่อมเยาว์ลงมา แต่ยังคงสีสันและคุณภาพใกล้เคียงแบรนด์ชั้นนำ เช่น แบรนด์ Silky Girl ของมาเลเซีย ที่ผลิตลิปสติกเนื้อแมทที่มีสีและคุณสมบัติคล้ายแบรนด์ชื่อดังจากอเมริกา วางจำหน่ายในมาเลเซีย และส่งออกไปยัง สิงคโปร์ บรูไน และ อินโดนีเซียด้วย ถึงแม้สตรีทแบรนด์อย่าง Silky Girl, Maybelline และ Revlon จะเติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับการตอบรับอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามชาวมาเลเซียยังมองหาความพรีเมี่ยมจากแบรนด์ชั้นนำระดับโลก อย่าง MAC BOBBI BROWN ซึ่งยอดขายยังขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน
8.สิงคโปร์ - Only The Best
ตลาดความงามของสิงคโปร์จะเติบโตต่อเนื่องทุกปีจนมีมูลค่าถึง 278 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9,840 ล้านบาทภายในปี 2020 ถือว่าเติบโตเต็มที่มากที่สุดในอาเซียน อัตราการเติบโตจึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 2.5 % ต่อปี คนสิงคโปร์ชอบดำเนินชีวิตอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ ชอบความเป็นระบบ มีการศึกษาดี มีรายได้สูง จึงมีกาลังซื้อค่อนข้างสูงไปด้วย นิยมสินค้าแบรนด์ เนม ได้รับอิทธิพลเรื่องวัฒนธรรมและวิถีชีวิตจากตะวันตกค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น สนใจติดตามกระแส นิยมและแฟชั่นในตลาดโลกมาก กระแสนิยมในโลกมีผลต่อการ ตัดสินใจซื้อสินค้าสูง ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพค่อนข้างมาก นิยมทานอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย สินค้าความงามจากธรรมชาติและออร์แกนิกส์ได้รับความนิยมอย่างมาก ผู้มีรายได้และมีระดับการศึกษา สูงจะนิยมบริโภคอาหารออร์แกนิคมากขึ้น ผู้หญิงสิงคโปร์มีความ เป็นวัตถุนิยม และให้ความสำคัญเรื่องเงินมาก
เนื่องจากสิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่มีรายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัวค่อนข้างสูง ทำให้สินค้าความงามที่ได้รับความนิยมมักเป็นสินค้าที่ราคาสูง มีส่วนประกอบชั้นเยี่ยมที่มีราคาแพงเป็นส่วนผสม และมีแพคเกจจิ้งที่สวยงาม ผลิตภัณฑ์ความงามที่ได้รับความนิยมจึงเป็นเครื่องสำอางที่ให้สีสันอย่าง อายแชร์โดว์ ลิปสติก ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และน้ำหอม กลุมผลิตภัณฑ์ที่เติบโตคือ ครีมลดเลือนจุดด่างดำ และกลุ่มเครื่องสำอางอย่างลิปสติก อายแชร์โดว์ มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6% ขณะที่ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Cosmeceutical ก็เติบโต และได้รับความนิยมเช่นกัน แบรนด์ผู้นำตลาดความงามสิงคโปร์คือ แบรนด์ชั้นนำอย่าง ลอรีอัล และแบรนด์จากเกาหลี

ที่กลายเป็นส่วนหลักที่ผลักดันตลาดเครื่องสำอางของสิงคโปร์ให้เติบโต และได้รับการยอมรับรับในวงกว้าง และการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของสิงคโปร์เองก็เติบโตต่อเนื่อง แบรนด์เครื่องสำอางหลายแบรนด์ มองหาพาร์ทเนอร์ที่เป็นร้านออนไลน์ เพื่อสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้น

อนุชนา วิชเวช
ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ 
บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด
รู้ลึก AEC: เมียนมา และ สปป.ลาว...ตลาดเครื่องสำอางที่มีศักยภาพของไทยในอาเซียน
ข่าวหุ้น-การเงิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า -- ศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2559 13:42:59 น.
อาเซียนเป็นตลาดส่งออกเครื่องสำอางสำคัญของไทย สะท้อนได้จากสัดส่วนการส่งออกปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 45 ของมูลค่าส่งออกเครื่องสำอางทั้งหมดของไทย โดยการส่งออกไปฟิลิปปินส์มีมูลค่ามากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 8 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด รองลงมา คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าส่งออกเครื่องสำอางของไทยไป 3 ตลาดดังกล่าวในช่วงระหว่างปี 2554-2558 ขยายตัวไม่โดดเด่นนัก โดยเฉพาะมูลค่าส่งออกไปอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งขยายตัวต่ำกว่ามูลค่าส่งออกเครื่องสำอางของไทยไป

อาเซียน ขณะที่ตลาดส่งออกที่ยังมีสัดส่วนไม่มาก อาทิ เมียนมา (ร้อยละ 5.8) และ สปป.ลาว (ร้อยละ 4.3) กลับเป็นตลาดที่มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกเครื่องสำอางไทยโดดเด่นที่สุด สะท้อนการเป็นตลาดศักยภาพที่มีโอกาสเติบโตสูง



ภาพรวมการส่งออกเครื่องสำอางของไทยไปเมียนมาและ สปป.ลาว
ปัจจุบันเมียนมาเป็นตลาดส่งออกเครื่องสำอางอันดับ 6 ของไทย โดยมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากรัฐบาลเมียนมาผ่อนคลายกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าในปี 2553 รวมทั้งดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองในเวลาต่อมา ขณะที่ สปป.ลาว เป็นตลาดส่งออกเครื่องสำอางอันดับ 9 ของไทย โดยมูลค่าส่งออกขยายตัวในระดับ 2 หลักมาโดยตลอด และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงสุดในอาเซียนที่ราวร้อยละ 19 ในช่วงปี 2554-2558 ทั้งนี้ สินค้าเครื่องสำอางที่ไทยส่งออกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเครื่องสำอาง เครื่องหอมและสบู่ ซึ่งเป็นสินค้าสำเร็จรูป และกลุ่มวัตถุดิบเพื่อใช้ทำเครื่องสำอาง สำหรับสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง เครื่องหอมและสบู่ที่เมียนมาและ สปป.ลาว นำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับ 1 คือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าและครีมกันแดด รองลงมาได้แก่ แป้งฝุ่น สิ่งปรุงแต่งที่ใช้แต่งตา ลิปสติก และยาทาเล็บ ตามลำดับ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าและครีมกันแดดเป็นที่ต้องการในเมียนมาและ สปป.ลาว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ สปป.ลาว ซึ่งมูลค่าส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยขยายตัวเฉลี่ยเกือบร้อยละ 30 ในช่วงปี 2554-2558

สำหรับสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบเพื่อใช้ทำเครื่องสำอางที่ไทยส่งออกไปเมียนมาและ สปป.ลาว ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบสำหรับทำเครื่องหอม อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกสินค้าดังกล่าวยังไม่สูงนักเมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกเครื่องสำอางสำเร็จรูป เนื่องจากเมียนมาและ สปป.ลาว นิยมนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีนซึ่งมีราคาถูกกว่า

ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกเครื่องสำอางของไทยไปเมียนมาและ สปป.ลาว
- กลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีจำนวนมาก จากการที่ประชากรส่วนใหญ่ในเมียนมาและ สปป.ลาว อยู่ในวัยทำงาน (อายุระหว่าง 15-64 ปี) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 68 และร้อยละ 62 ของประชากรทั้งหมดในแต่ละประเทศตามลำดับ ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตลาดเครื่องสำอางประเภทผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณและเสริมความงาม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าและครีมกันแดด แป้งฝุ่น และสิ่งปรุงแต่งที่ใช้แต่งตา ซึ่งคาดว่าจะมีแรงซื้อเพิ่มขึ้นอีกใน 2-3 ปีข้างหน้า ตามจำนวนประชากรวัยทำงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่การคืบคลานเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน จะกระตุ้นให้เครื่องสำอางจากต่างประเทศ รวมถึงเครื่องสำอางของไทยได้รับความสนใจจากผู้บริโภคกลุ่มนี้มากขึ้น

- มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย สินค้าเครื่องสำอางของไทยสามารถกระจายเข้าสู่ตลาดเมียนมาและ สปป.ลาว ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า มินิมาร์ท และตลาดกลางแจ้ง รวมถึงร้านขายของชำซึ่งตั้งอยู่ตามแหล่งชุมชนต่างๆ ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม ขณะเดียวกันการส่งออกเครื่องสำอางของไทยยังได้อานิสงส์จากการเข้าถึงสื่อออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในชุมชนเมือง ซึ่งช่วยกระตุ้นความต้องการสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น

ภาวะการแข่งขันของเครื่องสำอางไทยในเมียนมาและ สปป.ลาว
ปัจจุบันไทยเป็นแหล่งนำเข้าเครื่องสำอางอันดับ 1 ของทั้งเมียนมา และ สปป.ลาว จากขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งจากประเทศอื่นๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเป็นรายสินค้าพบว่า จีนเป็นคู่แข่งอันดับ 1 ในสินค้าวัตถุดิบเพื่อใช้ทำเครื่องสำอาง เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำและสามารถผลิตสินค้าปริมาณมากได้ในเวลาที่จำกัด นอกจากนี้ สินค้าลอกเลียนแบบที่แพร่กระจายมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคชาวเมียนมาและ สปป.ลาว เกิดความสับสนระหว่างสินค้าไทยและสินค้าลอกเลียนแบบ จนอาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาดและซื้อสินค้าลอกเลียนแบบแทน เนื่องจากมีราคาถูกกว่า ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าและครีมกันแดดจากเกาหลีใต้ก็เริ่มเข้ามาขยายตลาดในเมียนมามากขึ้น ซึ่งในระยะข้างหน้าอาจเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยได้ และเป็นประเด็นที่ผู้ส่งออกไทยพึงระวังควบคู่ไปกับการแข่งขันจากแบรนด์เครื่องสำอางท้องถิ่นในเมียนมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางจากทานาคาซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของเมียนมา (ส่วนใหญ่ใช้ทำแป้งทาหน้า)เช่น แบรนด์ Shwe Pyi Nann และแบรนด์ Thanaka Herbal เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้บริโภคชาวเมียนมาและชาวลาวมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์สูง ประกอบกับการประชาสัมพันธ์สินค้าในลักษณะการบอกเล่าแบบปากต่อปากยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคในทั้งสองตลาดนี้ ผู้ประกอบการไทยจึงควรสร้างจุดเด่นของสินค้าทั้งในด้านของแบรนด์และคุณภาพ รวมถึงควรพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากตลาดความงามมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ขณะที่ปัจจุบันกระแสนิยมนักแสดงและนักร้องเกาหลีใต้ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของกลุ่มวัยรุ่นในอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นชาวเมียนมาเองก็ตอบรับกระแสดังกล่าวค่อนข้างมาก ส่งผลให้เครื่องสำอางจากเกาหลีใต้เริ่มเข้ามาขยายตลาดในเมียนมามากขึ้น อย่างไรก็ตาม เครื่องสำอางของไทยยังมีความได้เปรียบจากการเป็นสินค้าที่ชาวเมียนมามีความคุ้นเคยมากกว่า ดังนั้น นอกจากการพัฒนาคุณภาพสินค้าแล้ว ผู้ประกอบการไทยควรรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของเครื่องสำอางไทยเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม รวมถึงควรทำการประชาสัมพันธ์สินค้ามากขึ้นเพื่อขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยอาจเลือกช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่มีต้นทุนต่ำผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกเครื่องสำอางไปเมียนมาและ สปป.ลาว ควรศึกษาตลาดโดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภค กฎระเบียบด้านการส่งออกและนำเข้า รวมถึงรายละเอียดของมาตรฐานสินค้าเครื่องสำอางของเมียนมาและ สปป.ลาว อย่างถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถรุกตลาดศักยภาพทั้งสองแห่งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2559--

อ่านต่อได้ที่ : https://www.ryt9.com/s/exim/2429890

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น