วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562

ตะลึงแลบุโรพุทโธ๔

ตะลึงแลบุโรพุทโธ๔


บุโรพุทโธ  หรือบรมพุทโธ  เขียนในภาษาอังกฤษว่า BOROBUDUR ในเอกสารเก่าแก่ภาษาชวา  เรียกสถานที่นี้ว่า NAGARAK RETAGAMA 

บุโรพุทโธเป็นพุทธสถานฝ่ายมหายาน  สร้างโดยกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์  สมัยอาณาจักรศรีวิชัย  สันนิษฐานว่าใช้เวลาสร้างประมาณ ๗๐-๘๐ ปีระหว่างพศ๑๓๒๑ – ๑๓๙๙ (ก่อนนครวัด ๓๐๐ ปี  และก่อนโบสถ์นอสเตรอะดาม ๒๐๐ ปี)

ในยุคนั้นทั้งศาสนาพุทธและฮินดูคงเจริญรุ่งเรืองอย่างมากบนเกาะชวา  และคงได้รับการอุปถัมภ์อย่างดีจากกษัตริย์  เห็นได้จากศาสนาสถานอันงดงามทั้งพุทธและฮินดูถูกสร้างขึ้นในยุคเดียวกันหลายแห่ง  ที่งดงามและยิ่งใหญ่พอ ๆ กันก็คงจะเป็น SHIVA PRAMBANAN ของฮินดู และบุโรพุทโธของพุทธ  ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง ๑๐ กิโลเมตร

บุโรพุทโธตั้งอยู่ทางตอนกลางของเกาะชวา  ห่างเมืองย็อกยาการ์ตาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ๔๐ กิโลเมตร   บนที่ราบ KEDU ระหว่างภูเขาไฟ ๒ คู่  คือ SUNDORO-SUMBING และ MERBABU-MERAPI  และแม่น้ำ ๒ สายซึ่งเปรียบเสมือนคงคากับยมุนาแห่งชวา คือ PRAGO และ ELO

ไม่มีการระบุแน่ชัดว่าบุโรพุทโธถูกทิ้งไปด้วยสาเหตุใด  แต่คาดว่าประมาณ ปีพศ.๑๔๗๑ หรือประมาณ ๗๐ ปีหลังจากสร้างเสร็จสมบูรณ์  สถานที่แห่งนี้ก็ค่อย ๆ ลดความสำคัญลง  อาจเป็นเพราะศูนย์กลางแห่งอำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยถูกย้ายไปอยู่ทางภาคตะวันตก  หรืออิทธิพลของศาสนาอิสลามที่เข้ามา  หรือจะเป็นเพราะภูเขาไฟที่อยู่ใกล้เคียงเกิดระเบิด  หรือทั้งหมดที่ว่ามาก็เป็นได้

พุทธสถานอันยิ่งใหญ่งดงามนี้มาถูกค้นพบโดยอังกฤษเจ้าอาณานิคมระหว่างปีพศ.๒๓๕๔-๒๓๕๙  หลังจากนั้นก็ใช้เวลานานมากกว่าจะได้บูรณะให้งดงามอย่างที่เห็นในวันนี้  เพราะเจ้าอาณานิคมไม่ว่าอังกฤษหรือดัทช์ไม่ได้สนใจจริงจัง  มีอยู่ยุคหนึ่งเจ้าอาณานิคมถึงกับไปสร้าง teahouse ไว้พักผ่อนดื่มน้ำชาอยู่บนยอดเจดีย์องค์ใหญ่เสียด้วยซ้ำ

ในหนังสือชื่อ  Borobudur : Golden Tales of  the Buddhas ที่เขียนโดย John Miksic เขียนไว้ว่า เมื่อปีพศ.๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ของเราเสด็จชวา  และได้รับของบรรณาการเป็นรูปปั้นจากบุโรพุทโธถึง ๘ เล่มเกวียน  ในนี้มี ภาพแกะสลักจากหิน ๓๐ ภาพ  พระพุทธรูป ๕ องค์  สิงโต ๒ ตัว  สัตว์ประหลาดที่อ้าปากคายน้ำฝนอีก ๑ ตัว  นอกนั้นก็มีหน้ากาลจำนวนหนึ่ง  รวมทั้งทวารบาลที่ค้นพบจาก Bukit Dagi เนินเขาซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือหลายร้อยเมตร  ในหนังสือระบุว่า  สิงโตและทวารบาลจากชวาเหล่านี้ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

บุโรพุทโธเริ่มได้รับการบูรณะอย่างจริงจังเมื่อปีพศ๒๔๙๘  เมื่อรัฐบาลอินโดนีเซียได้ร้องขอการสนับสนุนจากองค์การยูเนสโก  เสร็จสมบูรณ์เปิดให้คนทั้งโลกเข้าชมได้เมื่อปีพศ.๒๕๑๖ ใช้งบประมาณ ๒๕ ล้านเหรียญสหรัฐ  ลองเปรียบเทียบเวลาในการสร้างซึ่งอยู่ในศตวรรษที่ยังต้องใช้แรงงานทั้งหมด  กับเวลาในการบูรณะซ่อมแซมท่ามกลางเทคโนโลยีและเครื่องทุ่นแรงสมัยใหม่  ก็จะเห็นได้ว่า  บุโรพุทโธนั้นยิ่งใหญ่เหลือจะกล่าว

 
ปีพศ๒๕๓๔ องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้บุโรพุทโธเป็นมรดกโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น